ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติราชการ

แผนปฏิบัติราชการ

28480 แชร์

ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2561 - 2565

(ฉบับทบทวน พ.ศ. 2563 - 2565)

ความสำคัญ

“การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทย” เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นกลไกหลักที่ช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงตามความจำเป็น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงก็ตาม

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พัฒนาและขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 14 ปี ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมียุทธศาสตร์เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน

  1. ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2546-2550) : เส้นทางเดิน (roadmap) สู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นการสร้างความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วม พร้อมหนุนเสริมการจัดระบบบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกและทั่วถึง
  2. ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2554) : เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการคุ้มครองสิทธิ และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เข้มแข็งมากขึ้น
  3. ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2555 – 2559) : เน้นความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย (Universal Coverage) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ (Ownership) สอดคล้องกลมกลืนกันในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (Harmonization) สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น “แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2561-2565 (ฉบับทบทวน พ.ศ.2563-2565)” โดยทิศทางและกรอบคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการฯดังกล่าว สอดคล้องเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ และแผนยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป้าประสงค์ 3 มิติ คือ “ประชาชนเข้าถึงบริการ” “การเงินการคลังมั่นคง” “ดำรงธรรมาภิบาล” มีตัวชี้วัดเป้าประสงค์ 10 ตัวชี้วัด 5 ยุทธศาสตร์ 19 ยุทธวิธี

กรอบคิด

แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2561-2565
ฉบับทบทวน (พ.ศ.2563-2565)

วิสัยทัศน์

"ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ"

พันธกิจ

“พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนประชาชนในการจัดหาบริการที่มีคุณภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามความจำเป็น” (Secure people toward effective equitable responsive Coverage, Access, and Utilization by the evidence-informed decision and participation)

พันธกิจเฉพาะ

  1. ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยความมั่นใจ และเสริมสร้างความเท่าเทียมกันในระหว่างกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ
  2. สนับสนุนการพัฒนาการบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการ
  3. บริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  4. ดำเนินการให้ทุกภาคส่วนมีความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการโดยเน้นการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน
  5. พัฒนาและจัดการระบบข้อมูลเชิงประจักษ์และองค์ความรู้ต่างๆ และใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

เป้าประสงค์ 3 ประการ (3 Goals of "CSG")

10 ตัวชี้วัดเป้าประสงค์

เป้าหมาย (Goal) ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย (Indicators and Targets)
ประชาชนเข้าถึงบริการ

1) ประสิทธิผลของความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพ[1] (Effective coverage) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามภายในปี 2565

2) ร้อยละการใช้สิทธิเมื่อไปใช้บริการสุขภาพผู้ป่วยนอกมากกว่าร้อยละ 80 และผู้ป่วยในมากกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2565

3) ร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และผู้ให้บริการไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 ภายในปี 2565

การเงิน / การคลัง / มั่นคง

4) ร้อยละรายจ่ายสุขภาพเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อยู่ระหว่างร้อยละ 4.6 ถึง 5.0 ในปี 2565

5) ร้อยละรายจ่ายสุขภาพเทียบกับรายจ่ายของรัฐบาล อยู่ระหว่างร้อยละ 17 ถึง 20 ในปี 2565

6) ร้อยละของครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Catastrophic health expenditure) ไม่เกินร้อยละ 2.3 ในปี 2565

7) ร้อยละครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ไม่เกิน 0.4 ในปี 2565

ดำรงธรรมาภิบาล

8) ระดับความสำเร็จของความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบร่วมกันของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามภายในเวลา 5 ปี

9) ร้อยละความสำเร็จของการเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

10) ร้อยละการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Integrity and Transparency Assessment ITA) ตามมาตรฐานการประเมินของรัฐ (ปปช.) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90

...................................................................
[1] นิยาม “ความครอบคลุมอย่างมีประสิทธิผล” (Effective coverage) หมายถึง ความครอบคลุมการได้รับบริการใน 3 มิติ คือ ประชาชนที่มีความจำเป็นได้บริการ/รักษาพยาบาล (Need) สามารถเข้าถึงบริการ/ได้รับการรักษา (Utilization = Availability and Access) และเป็นบริการที่ได้ผล/มีคุณภาพ (Effective intervention/Quality) เช่น HIV/AIDS, DM/HT เมื่อป่วย - ได้รับการตรวจ/รักษา - และควบคุมโรคได้ เป็นต้น
..................................................................

แผนงาน มาตรการ และตัวชี้วัด

5 แผนงาน “สร้างความมั่นใจ” (“5 ensure” plans)

แผนงานที่ 1 : สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ (Ensure coverage and access for vulnerable and underutilization groups)

แผนงานที่ 2 : สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ (Ensure quality and adequacy of health services)

แผนงานที่ 3 : สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน (Ensure financial efficiency)

แผนงานที่ 4 : สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Ensure participation and ownership of all stakeholders)

แผนงานที่ 5 : สร้างความมั่นใจในธรรมาภิบาล (Ensure good governance)

19 มาตรการรองรับการดำเนินงานตามแผนงาน

แผนงานที่ 1 : สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ (Ensure effective coverage of vulnerable groups and inaccessible to care)

มาตรการ :

  1. 1.1 เสริมสร้างให้ประชาชน (Empower) มีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ ดูแลสุขภาพตัวเองได้เหมาะสม และรับรู้ เข้าใจวิธีการใช้สิทธิ และไปใช้บริการเมื่อจำเป็น
  2. 1.2 จัดกลไกการค้นหาประชาชนกลุ่มเปราะบางและปราชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ (Identify vulnerable and underutilize groups) เพื่อทราบสถานการณ์ปัญหาและออกแบบการจัดการให้รับรู้สิทธิ และได้รับบริการที่จำเป็น
  3. 1.3 เพิ่มกลไกการจัดการเพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มเป้าหมายที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ (Proactive communication & Right protection) เน้นการสื่อสารเชิงรุกให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ การร้องเรียนที่เข้าถึงง่ายและมีช่องทางหลากหลาย รวมทั้งการประสานงานร่วมกับหน่วยงาน/ภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. สสส. เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ
  4. 1.4 ทบทวนปรับปรุงประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข (Review proper benefit package) ที่สอดคล้องตามความจำเป็นของกลุ่มเปราะบาง หรือบริการที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ

แผนงานที่ที่ 2 : สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานแลความเพียงพอของบริการ (Ensure quality and adequacy of health services)

มาตรการ :

  1. 2.1 สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐาน (Ensure quality) ส่งเสริมกลไกการประกันคุณภาพหน่วยบริการ
    • พัฒนาความเข้มแข็งของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ (Strengthen quality board)
    • การกำกับติดตามคุณภาพบริการและความปลอดภัย (Monitor quality and Patient Safety) โดยร่วมมือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  2. 2.2 สร้างความมั่นใจในความเพียงพอของบริการ (Ensure adequacy) สนับสนุนความเพียงพอของบริการและเหมาะสมสำหรับทุกกลุ่ม
    • จัดหาบริการให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ (Targeting) เช่น บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับผู้ต้องขัง การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทุกคน เด็กในศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น รวมทั้งจัดระบบให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง
    • สนับสนุนการขยายระบบบริการปฐมภูมิในเขตเมือง (Primary health care in urban) รองรับการดูแลคนเขตเมืองที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ
    • สนับสนุนการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในสัดส่วนที่เหมาะสม ความสะดวกการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ และการส่งต่อ/ส่งกลับบริการเฉพาะด้าน
    • จัดหานวัตกรรมระบบบริการรูปแบบใหม่ๆ (Promote health service innovation) เพื่อรองรับการเข้าถึงบริการของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและบริการทั่วไป เช่น การจัดบริการเชิงรุกในชุมชน โดยหน่วยบริการ/หน่วยงานอื่น/ภาคประชาชน บริการ Social enterprise
  3. 2.3 สนับสนุนบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคทุกกลุ่มวัย (Strengthening P&P and Health literacy) ที่เน้นชุมชนเป็นฐาน เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน

แผนงานที่ 3 : สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน (Ensure financial efficiency)

มาตรการ

  1. 3.1 ร่วมกับทุกภาคส่วนในการแสวงหาแหล่งเงินใหม่ (Sustain source of finance) เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพในระยะยาว
  2. 3.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนฯ (Improve efficiency of fund management)
    • ปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการรายการที่มีการจ่ายที่กำหนดราคาเฉพาะ (Central reimbursement)
    • ทำแผนพัฒนาการจัดสรรงบประมาณ (Payment development plan)
    • สร้างกลไกให้ผู้ให้บริการตรวจสอบกันเองในการให้บริการ
    • สนับสนุนนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การให้บริการตามที่จำเป็น
    • หนุนเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์/บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในบัญชีนวัตกรรม (นโยบาย Thailand 4.0)
    • พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น/พื้นที่
  3. 3.3 สนับสนุนการสร้างความกลมกลืนระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (Encourage harmonization)
    • สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข พ.ศ.2561 (ด้านหลักประกันสุขภาพ) 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่
    • จัดทำข้อเสนอและขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มแหล่งเงินสำหรับบริการสุขภาพที่ภาครัฐมีส่วนร่วม และปรับปรุงกระบวนการงบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่าย
    • ร่วมกับกลไกที่มีอยู่แล้ว กำหนดและประมาณการค่าใช้จ่ายชุดสิทธิประโยชน์หลัก และ ร่วมกับกลไก 3 กองทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารระบบหลักประกันสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์หลัก
    • ขับเคลื่อนให้มีหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่ National Clearing House และขับเคลื่อนให้มีหน่วยงานหรือระบบความร่วมมือที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการพัฒนาระบบและดำเนินการ Auditing system and Quality assurance system สำหรับ 3 กองทุน
    • ขับเคลื่อนการบูรณาการระบบบริหารจัดการระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐ เช่น วิธีและอัตราจ่ายค่าบริการ ระบบฐานทะเบียนผู้มีสิทธิ ระบบการตรวจสอบ และระบบบริการสอบถามข้อมูล เป็นต้น

แผนงานที่ 4 : สร้างความมั่นใจการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Ensure participation and ownership of all stakeholders)

  1. 4.1 ขยายและเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบของภาคียุทธศาสตร์และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (Expand participation & ownership)
    • การทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข UHOSNET ทั้งระดับประเทศ ระดับเขตผ่านกลไกต่างๆ
    • เครือข่ายวิชาชีพต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐาน เงื่อนไขบริการ และการควบคุมกำกับคุณภาพ
    • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านการขับเคลื่อนรูปแบบประชารัฐ เพื่อบรรลุประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น
    • เครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามมาตรา 50 (5)
    • ภาคียุทธศาสตร์ใหม่ๆ เช่น นักการเมือง นักศึกษา นักวิชาการ ฯลฯ
  2. 4.2 จัดระบบ/กลไกในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคีเครือข่ายต่างๆ (Stakeholder relation) รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง
  3. 4.3 ปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ (Improve hearing process) โดยเพิ่มความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ กำหนดประเด็นเฉพาะ ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย
  4. 4.4 ร่วมกับกลไกนโยบายหลักประกันสุขภาพระดับโลก (UHC in Global Health) ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพในประเทศ

แผนงานที่ 5 : สร้างความมั่นใจในธรรมภิบาล (Ensure good governance)

มาตรการ :

  1. 5.1 เพิ่มขีดความสามารถของกลไกอภิบาลในระบบหลักประกันสุขภาพฯ (Empower governing body) โดยเฉพาะ Board member เพื่อสร้างชุมชนแห่งความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบร่วมกัน (Community of commitment and accountability) โดย
    • เสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของคณะกรรมการ (Building & Strengthening Capacity) เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และเพิ่มความรู้สึกร่วมรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของระบบที่
    • จัดทำแนวทางการดำเนินงานและกำหนดความรับผิดชอบร่วมกัน (Guideline)
    • จัดให้มี Board relation unit เพื่อประสานงานและอำนวยความสะดวกต่างๆ
    • มีกิจกรรม Field visiting เพื่อรับฟังปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอจากพื้น
  2. 5.2 สนับสนุนการจัดการองค์ความรู้และการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจ (Ensure evidence-informed decision)
    • จัดตั้งหน่วยงานที่ทำข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ หรือ เพิ่มความเข้มแข็งของกลไกติดตามประเมินผล (M&E) ที่มีอยู่เดิมให้ตอบโจทย์การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และการคืนข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์
    • เพิ่มการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและการจัดการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
  3. 5.3 มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร สปสช. (HR Master Plan และ succession plan) ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข และทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมีการติดตามผลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  4. 5.4 เพิ่มการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการบริหารจัดการในทุกด้าน ให้ สปสช.เขต (Decentralization)
  5. 5.5 ทบทวนและพัฒนาการบริหารจัดการและระบบงานสนับสนุนต่างๆ (Revise and improve management and supporting system) เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
    • ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบบริหารจัดการ สภาพแวดล้อม ฯลฯ