ที่มาของแนวคิด “30 บาท รักษาทุกโรค” : โครงการอยุธยา
เป็นโครงการเล็กๆ เพื่อการปรับเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุข เริ่มต้นทดลองพัฒนาสถานพยาบาลใกล้บ้านที่มีคุณภาพเพื่อคอยดูแลประชาชนถึงครอบครัวและชุมชน เริ่มโครงการระดับอำเภอที่อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ตามมาด้วยระดับจังหวัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้ขยายกลายเป็นโครงการในระดับประเทศในชื่อว่า “โครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข”
โครงการประกันสังคม เมื่อ พ.ศ. 2533
เป็นอีกส่วนหนึ่งโดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้มีส่วนในการจัดตั้งสำนักงานประกันสังคม ด้วยแนวคิดว่าจะใช้พลังทางด้านการเงิน (financial power) ในการกำกับทิศทางของโรงพยาบาลตามที่ต้องการ ทำให้ได้เรียนรู้ การทำให้โครงการใหญ่ๆ มีความยั่งยืนทางการเงิน ใช้การจัดสรรงบประมาณและสถานพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายหัว พัฒนาการเกิดเครือข่ายสถานพยาบาลของโรงพยาบาลที่จับกลุ่มกับคลีนิกเอกชน
Health Care Reform Project ปี พ.ศ. 2540 – 2543
โครงการสนับสนุนการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสหภาพยุโรป (EU) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย ระยะแรก (phase 1) ได้นำแนวคิดและประสบการณ์การพัฒนารูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิจากโครงการอยุธยาและจังหวัดอื่นๆ มาพัฒนาต่อ ทั้งในพื้นที่ อยุธยา พะเยา ยโสธร ขอนแก่น สงขลา นครราชสีมา สมุทรสาคร และจังหวัดที่อยู่ภายใต้งานเวชปฏิบัติครอบครัวของแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 8
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ : กฎหมายแม่บทด้านสุขภาพ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) และสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ทำหน้าที่ยกร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยมีการทำงานทางวิชาการควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้แนวคิดสำคัญ คือ
“สร้างนำซ่อม” ในช่วงเดียวกัน ภาคประชาชนได้ “ร่วมผลักดัน” กฎหมายหลักประกันสุขภาพด้วยการ “ขับเคลื่อนสังคม” อย่างกว้างขวาง
โครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค”
จากการขายแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่พรรคการเมืองหลายพรรค ในช่วงเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย เห็นถึงความเป็นไปได้ จึงนำมาเป็นนโยบายในการหาเสียง และได้นำมาใช้เมื่อพรรคได้รับเลือกให้จัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้ประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชน ในชื่อ โครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
ฝันที่เป็นจริง
รัฐบาลเริ่มนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทย โดยการนำร่องในโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” เริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 ใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครสวรรค์ ยโสธร พะเยา และยะลา ครอบคลุมประชาชนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการเป็นสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ในเดือนมิถุนายน 2544 และได้ขยายพื้นที่ดำเนินการจนสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา
พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
จากผลการสำรวจของโพล ประชาชนพอใจกับนโยบายนี้เป็นอย่างมาก จึงได้มีการผลักดันจนเกิดเป็น
“พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” ได้สำเร็จ และจัดตั้ง “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” ขึ้นเป็นหน่วยงานบริหารระบบ เพื่อทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ของประชาชนในการกำหนดสิทธิประโยชน์ และเป็นตัวแทนในการคุ้มครองดูแลให้ประชาชนได้รับบริการอย่าง
เท่าเทียม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการ สปสช. คนแรก