ข่าวประชาสัมพันธ์

ไทยแลกเปลี่ยนประสบการณ์รับมือและตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพ เน้นการบริหารจัดการคลังยาและเครื่องมือทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

305 35
แชร์

การแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการรับมือและตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพด้วยการบริหารจัดการคลังยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือ “Supply Chain Resilience for Health Emergency Preparedness and Response in Asia: Considerations for Strategic Stockpiling of Countermeasures and Materials." 

การประชุมนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้การประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 โดยมีแม่งานอย่าง ชัทแธมเฮ้าส์ (Chatham House) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองสัญชาติอังกฤษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ 

พอล ลาลวานี (Paul Lalvani) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กร Empower School of Health อธิบายในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการว่า การสำรองยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีความจำเป็นต่อการรับมือภาวะวิกฤต ซึ่งสินค้าทางการแพทย์มักจะขาดตลาด ตัวอย่างของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ ได้แก่ยาฆ่าเชื้อ ยาต้านพิษ วัคซีน อุปกรณ์ให้ยาทางหลอดเลือด ช่วยหายใจ และผ่าตัด เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ลาลวานีอ้างอิงถึงรายงานภัยพิบัติ 2565 (World Disasters Report 2022) ซึ่งระบุว่าประเทศเกือบทั้งหมดในโลกไม่มีความพร้อมต่อการรับมือโรคระบาด และยังต้องการเม็ดเงินลงทุนอีกมากเพื่อลงทุนเพิ่มศักยภาพในด้านนี้ ตัวชี้วัดความมั่งคงด้านสุขภาพโลก 2564 (Global Health Security Index 2021) จัดประเทศไทยไว้ที่อันดับ 5 จาก 195 ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพมากที่สุด สะท้อนว่าไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความพร้อมต่อการรับมือวิกฤตด้านสุขภาพ ทั้งยังมีความพร้อมด้านคลังยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์

อภิชัย พจน์เลิศอรุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านยาจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แลกเปลี่ยนระหว่างการประชุมว่า ประเทศไทยสามารถรับมือโรคระบาดโควิด-19 ได้เพราะ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การมีฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ การจัดโครงสร้างบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายและระเบียบที่ส่งเสริมการบังคบใช้มาตรการเร่งด่วนในการรับมือโรคระบาด 

ในส่วนของฐานข้อมูล อภิชัยเล่าว่ากระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบฐานข้อมูล Co-Lab ซึ่งเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศรายงานผลตรวจโควิด-19 และ Co-Ward ซึ่งใช้บริหารจัดการเตียงและทรัพยากรด้านสาธารณสุข ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวิเคราะห์ปริมาณทรัพยากรด้านสาธารณสุข และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้านการจัดโครงสร้างบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน ซึ่งหนึ่งในหน้าที่คือการบริหารจัดการคลังยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกระจายไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังประกาศใช้ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อตั้งแต่ปี 2558 ทำให้รัฐบาลมีอำนาจประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมโรคได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจำกัดการเดินทาง กักกันผู้ป่วย และปิดธุรกิจบางประเภทชั่วคราว 

อภิชัยย้ำว่าความร่วมมือข้ามหน่วยงานและภาคส่วน เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การรับมือและตอบสนองต่อโรคระบาดของไทยมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงการคลังออกประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศลดกระบวนการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์  เพื่อลดความเสี่ยงขาดอุปกรณ์ในการรับมือโรคระบาด 

ทางด้านศาสตราจารย์ นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี แลกเปลี่ยนบทเรียนจากการทำโครงการยาต้านพิษของประเทศไทย (National Antidote Programme) ซึ่งริเริ่มในปี 2553 เพื่อจัดหาและสำรองยาต้านพิษ รวมทั้งอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้ใช้ยาต้านพิษอย่างถูกต้อง

โครงการนี้นำไปสู่การจัดการคลังยาต้านพิษที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถสำรองยาต้านพิษที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินไว้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ภายในหนึ่งชั่วโมง 
ในส่วนของยาต้านพิษที่ไม่เป็นที่ต้องการเร่งด้วน จะสำรองยาไว้ที่โรงพยาบาลระดับภูมิภาค และยังสำรองยาที่มีราคาแพงไว้ที่สถานพยาบาลในกรุงเทพ พร้อมจัดระบบการส่งยาที่รวดเร็วทันเวลา
การประเมินผลโครงการพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงยาต้านพิษเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากสารพิษลดลงจาก 52% เป็น 28% ตั้งแต่เริ่มโครงการ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้เรื่องการใช้ยาต้านพิษเพิ่มขึ้น

การสำรองยาอย่างมีประสิทธิภาพยังช่วยลดงบประมาณการจัดหายาต้านพิษงูได้ถึง  60% และทำให้ไทยสามารถส่งยาต้านพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น พม่า อินเดีย ไนจีเรีย เวียดนาม และมาเลเซีย 

ความสำเร็จในการบริหารจัดการยา ยังนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยและองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาต้านพิษร่วมกันระหว่างประเทศ หรือ Initiative for Collaborative Procurement in the South-East Asia Region (iCAPS) 

"เราต้องทำระบบพิเศษที่สำรองยาต้านพิษ และเข้าถึงได้ทันทีเมื่อมีผู้ป่วยต้องการยา เราเชื่อว่าระบบบริหารจัดการที่เน้นความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน จะสามารถทำให้การจัดหาและกระจายยามีประสิทธิภาพสูงสุด และลดภาระค่าใช้จ่ายจากการสำรองยาได้อีกด้วย” นพ.วินัยกล่าว

ในระหว่างการประชุม อันนา ดูร์เต้ (Ana Duarte) เจ้าหน้าที่จากองค์กร Health Emergency Preparedness and Response (HERA) ภายใต้การดำเนินงานของสหภาพยุโรป ให้ข้อมูลว่าสหภาพยุโรปกำลังทำร่างยุทธศาสตร์การสำรองยา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. นี้

ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรองและกระจายยาระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมทั้งแก้ปัญหากำแพงด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ทำให้การสำรองยาร่วมกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 

//////////////////