ข่าวประชาสัมพันธ์

‘มูลนิธิขาเทียมฯ’ จ.เชียงใหม่ ผลิต ‘ขาเทียม’ กว่า 3,000 ขาต่อปี ให้ ‘ทุกคน-ทุกสิทธิ-ทุกเชื้อชาติ’ ฟรี

460 52
แชร์

สปสช. ลงพื้นที่มูลนิธิขาเทียมฯ จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชมโรงงานจัดทำขาเทียม-รับฟังข้อมูลการให้บริการเพื่อความยั่งยืน ช่วยผู้พิการที่ต้องการขาเทียมได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมมากขึ้น ด้านเลขามูลนิธิฯ ระบุ มูลนิธิบริการขาเทียมปีละกว่า 3,000 ขา ใช้งบประมาณราว 40-50 ล้านบาท ฟรีทุกคน ทุกเชื้อชาติตามปณิธานของสมเด็จย่า พร้อมอบรมบุคลากร-จัดหลักสูตรเสริมความรู้ด้านกายอุปกรณ์ จัดตั้งโรงงานผลิตขาเทียมในโรงพยาบาลชุมชน 95 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ที่ผ่าน คณะผู้บริหาร นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เยี่ยมชมมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังการดำเนินการ และเยี่ยมชมโรงงานทำขาเทียมสำหรับผู้พิการขาขาด โดยมี ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ นพ.วิรัช พันธ์พานิช รองเลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ นพ.พิรุณ คำอุ่น รองเลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ เปิดเผยว่า มูลนิธิขาเทียมฯ ให้บริการทำขาเทียมสำหรับผู้พิการขาขาดทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ทุกเชื้อชาติที่อยู่ในประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นไปตามปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่า “อย่าไปเก็บเงินที่เขา ให้มาเก็บฉัน” เพื่อให้ผู้พิการขาขาดสามารถเข้าถึงขาเทียมได้ทุกคน 

อย่างไรก็ดี มูลนิธิขาเทียมมีโรงงานผลิตขาเทียมหลายประเภท ตั้งแต่ระดับข้อเท้า ระดับใต้เข่า ระดับข้อเข่า ระดับเหนือเข่า ระดับถึงข้อสะโพก รวมถึงขาเทียมสำหรับทำเกษตรกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับทุกคนมากที่สุด และยังมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโรงงานในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศประมาณ 95 แห่ง เพื่อให้ผู้พิการได้รับขาเทียมสำหรับการดำรงชีวิต มีหลักสูตรการสอน 2 ปีเรื่องกายอุปกรณ์ ร่วมกับกรมอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ รวมถึงมีการอบรมเจ้าหน้าที่กายอุปกรณ์ของมูลนิธิฯ เพื่อเข้าไปประจำในโรงงานตามโรงพยาบาล จำนวน 700 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีบริการให้ความรู้แก่ผู้พิการขาดที่ได้รับขาเทียม เพื่อให้สามารถใช้งาน และดูแลได้อย่างเหมาะสม

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ ระบุว่า ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 32 ปี ให้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่ประมาณ 164 ครั้ง และให้บริการทำขาเทียมไปมากกว่า 2.7 หมื่นขา ขณะที่การบริการทำขาเทียมต่อปีจะอยู่ที่ปีละประมาณกว่า 3,000 ขา ใช้งบประมาณราว 40-50 ล้านบาทต่อปี 

“เงินทั้งหมดจะเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธา บริษัท ห้างร้าน ธนาคารบริษัทประกันต่างๆ ที่เห็นความสำคัญของมูลนิธิและได้สนับสนุนให้มาตลอด แต่หากจะให้เกิดความยั่งยืนอาจจะต้องคำนึงถึงแหล่งเงินอื่นๆ ร่วมด้วย” ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ ระบุ 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับมูลนิธิขาเทียมตั้งขึ้นมาโดยมีความประสงค์ให้ผู้ที่ต้องการได้รับขาเทียมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นไปตามปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งหากต่อยอดแล้วต่อไปนี้ผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการขาเทียมไม่ควรมีค่าใช้จ่าย 

อย่างไรก็ดี สปสช. มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ซึ่งก็คิดว่ามูลนิธิขาเทียมน่าจะเป็นอีกหน่วยงานสำคัญ ขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็งได้ ส่วนนี้ก็อาจจะต้องคิดต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืนให้ประชาชนได้รับขาเทียมอย่างทั่วถึงมากขึ้นในอนาคต 

“ตอนนี้ที่มีโรงงานงานทำขาเทียมทั่วประเทศ 95 แห่ง หรือในอนาคต หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนมากก็สามารถขยายได้ด้วย สปสช. จะไปดูเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในเรื่องขาเทียมที่จ่ายให้โรงพยาบาลอยู่แล้ว เราอาจจะให้การชดเชยค่าขาเทียมที่ทำโดยเทคโนโลยีจากมูลนิธิฯ ในอัตราเดียวกับที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ” นพ.จเด็จ กล่าว 

 /////////// 26 พฤศจิกายน 2566

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw