ไทยให้คำมั่นสัญญาในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย้ำความจำเป็นของการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และต้องให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ พร้อมใช้นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพบริการสาธารณสุข ระบุแม้ไทยจะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 2 ทศวรรษ แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป ประกาศรัฐบาลไทยจะมุ่งยกระดับ “30 บาทรักษาทุกโรค” เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 11.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) โดยมี นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมด้วย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการเสริมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย้ำความจำเป็นของการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และต้องให้ประชาชนร่วมตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ พร้อมใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและสิทธิเข้าถึงการรักษา โดยไทยจะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยหรือนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
นายปานปรีย์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ UHC เป็นนโยบายหลักด้านสุขภาพที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประเทศไทยได้รวมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ในความร่วมมือการพัฒนาระหว่าง และสนับสนุน UHC ในเวทีพหุภาคี ซึ่งการบรรลุเป้าหมาย UHC จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)
ทั้งนี้ กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชนไทยแล้ว แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์และมีบทเรียนมากมายจนเรียนรู้ได้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีความยั่งยืน แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาต่อไป
นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ภายใต้รัฐบาลนี้ ไทยจะยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลแบบประคับประคอง ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกของบริการสุขภาพในทุกระดับให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างแท้จริง
“รัฐบาลไทยให้คำมั่นสัญญาต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ในฐานะ 'การมีส่วนร่วม' กับผู้คนในปัจจุบัน แต่ยังเป็น 'การลงทุน' เพื่อผู้คนในอนาคตด้วย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระสำคัญในระดับต้นๆ ของรัฐบาลไทย รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการหนุนเสริม 'สนธิสัญญาโรคระบาดใหม่’ ภายใต้องค์การอนามัยโลกด้วย และการปฏิรูปสถาปัตยกรรมด้านสุขภาพระดับโลกเพื่อความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยกมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้กลับมาดำเนินตามแนวทางที่ก้าวหน้าไปสู่บรรลุเป้าหมาย SDGs ที่ก้าวหน้าสำหรับทุกคน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมรับรองปฏิญญาการเมืองว่าด้วย UHC ค.ศ.2023 ซึ่งผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ และการเจรจาระหว่างรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
////////////22 กันยายน 2566