ข่าวประชาสัมพันธ์

สิทธิประโยชน์การคุมกำเนิดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

257639 212
แชร์

"การคุมกำเนิด"

หมายถึง วิธีการป้องกันตั้งครรภ์หรือขัดขวางการตั้งครรภ์ เช่น ป้องกันไม่ให้อสุจิกับไข่เกิดการปฏิสนธิ ป้องกันไม่ให้มีการตกไข่ ป้องกันไม่ให้มีการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูกของสตรี การคุมกำเนิดจึงเป็นการวางแผนครอบครัววิธีหนึ่ง เพื่อจำกัดจำนวนการมีบุตร ทำได้หลายวิธีด้วยกัน และทำได้ทั้งหญิงและชาย

ประโยชน์ของการคุมกำเนิด

1.เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก

2.เพื่อสุขภาพที่ดีของพ่อแม่

3.เพื่อสุขภาพของลูก

การคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.การคุมกำเนิดชั่วคราว คือ วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ เหมาะกับผู้ที่ยังไม่พร้อมมีลูก แต่ยังต้องการที่จะมีลูกในอนาคต การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิง ให้ผลในการป้องกันสูง วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย

2.การคุมกำเนิดถาวร คือ วิธีการคุมกำเนิดไปได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเพียงพอแล้วและไม่ต้องการมีลูกอีก ทำเพียงครั้งเดียว ได้ผลดีมาก ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงเหมือนกับการใช้วิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มี 2 วิธีดังนี้

  • การทำหมันหญิง มีทั้งการทำหมันแห้งที่เป็นการทำหมันในรายที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และการทำหมันเปียก เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร นิยมทำในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการคลอดบุตร
  • การทำหมันชาย เป็นการทำหมันถาวรโดยการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้ออสุจิเดินทางเข้ามาในช่องคลอดขณะร่วมเพศได้

***ขอบคุณข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์การวางแผนครอบครัว รวมถึงการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การทำหมันหญิงและชาย คุ้มครองคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) สิทธิประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และสิทธิอื่นๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีบริการให้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การทำหมัน แนะนำให้ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดปรึกษาแพทย์ โดยยื่นบัตรประจำตัวประชาชนแจ้งใช้สิทธิ ณ หน่วยบริการ  (สถานพยาบาล) ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รายละเอียดสิทธิประโยชน์การคุมกำเนิดดังนี้ (การเลือกวิธีคุมกำเนิด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้ยา เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสม)

1.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

  • ให้บริการสำหรับหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ (อายุระหว่าง 8-59 ปี)
  • จ่ายครั้งละไม่เกิน 3 แผง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ให้บริการ (คนละไม่เกิน 13 แผง/ปี)
  • เลือกรับบริการยาคุมกาเนิดได้ 2 วิธี ดังนี้

กรณีรับบริการผ่านสมาร์ทโฟน

  • เปิด แอปเป๋าตังไปที่เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” เลือก “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค”
  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ จะแสดงสิทธิ “ยาเม็ดคุมกำเนิด” > ค้นหาหน่วยบริการ และทำการจองสิทธิ
  • เดินทางไปรับยาคุมกำเนิดภายในวันที่จองสิทธิ ตามเวลาทำการของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลฯ เป็นต้น 

กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน

  • ให้แสดงบัตรประชาชน เพื่อรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการ

2.การใส่ห่วงอนามัย 1 ครั้ง/ปี เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์

3.ยาฉีดคุมกำเนิด ไม่เกิน 5 ครั้ง/ปี เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์

4.ยาฝังคุมกำเนิด 1 ครั้ง/3 ปี เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ กรณีอายุเกินให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

5.ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่เกิน 2 แผง/ปี เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ ขอรับผ่านแอปเป๋าตัง ไปที่เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” เลือก “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค” หลังจากนั้นเลือก การคุมกำเนิด  > ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน  > ค้นหาหน่วยบริการ และโทร.นัดหมายเพื่อเข้าไปรับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 

6.ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัย ครั้งละ10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ ขอรับผ่านแอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือก “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค” หรือไปรับที่ ตู้ ‘เลิฟปัง รักปลอดภัย’ ตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้ให้บริการ 16 ตู้ดังนี้ 

ชลบุรี 
•    โรงพยาบาลเมืองพัทยา
•    ท่าเรือแหลมบาลีฮาย (2 ตู้)
•    เซ็นทรัลพัทยา ชั้น 1
•    เซ็นทรัลพัทยา ชั้น 6
•    เซ็นทรัล มารีน่า พัทยา ชั้น 1

ปทุมธานี 
•    มหาวิทยาลัยรังสิต ตึกเภสัชศาสตร์
•    หมู่บ้านรังสิตซิตี้ (แฟลตบางทอง)
•    มหาวิทยาลัยราชภัฏราชภัฏวไลยอลงกรณ์ (อาคารพยาบาล)

กรุงเทพฯ 
•    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
•    คลีนิกเวชกรรมอารีรักษ์ คลองเตย
•    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พาณิชยการพระนคร (คณะบริหารธุรกิจ หน้าห้องพยาบาล)
•    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พระนครเหนือ (หน้าห้องพยาบาลแผนกเทคนิคคอมพิวเตอร์)
•    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์เทเวศร์ (อาคาร 4 ข้างห้องพยาบาล)

นนทบุรี 
•    ตลาดต้นสัก ต.บางกระสอ อ.เมือง 

สระบุรี 
•    ห้างสุขอนันต์ ปาร์ค สระบุรี
 

การใช้บริการข้อ 2-4 สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำของท่านหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ร่วมบริการตามความสะดวกได้ ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมบริการได้ที่ https://reghosp.nhso.go.th/hospital_search/index.xhtml  >> ค้นหาการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ >> เลือก R0212 : หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค >> เลือกจังหวัดที่ตั้งที่ท่านต้องการไปรับบริการ >> จากนั้นกด"ค้นหา"  (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สายด่วน สปสช. 1330)

หรือจองคิวนัดหมายเพื่อรับบริการได้ที่แอปเป๋าตัง  ไปที่เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” เลือก “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค” เลือกสิทธิประโยชน์ที่ต้องการ> เลือกหน่วยบริการ > เลือกเมนูนัดหมาย > เลือกวันและเวลา และกดยืนยัน (บริการที่ลงทะเบียนไว้จะโชว์ขึ้นมาที่ นัดหมายของฉัน) สำหรับหน่วยบริการที่ยังไม่มีระบบการจองคิวนั้น จะปรากฏเป็นหมายโทรศัพท์ของหน่วยบริการนั้น ซึ่งท่านสามารถโทรนัดรับบริการได้เช่นกัน

กรณีตั้งครรภ์ไม่พร้อม

สปสช.มีการจัดการการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เพื่อเป็นทางออก ซึ่งจะมีการให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อตัดสินใจ กรณีเข้าข่ายตามกฎหมายในการยุติการตั้งครรภ์ จะได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจากสถานบริการสุขภาพที่เป็นทางการ สิทธิประโยชน์นี้ยังรวมถึงการป้องกันการท้องซ้ำด้วยการฝังยาคุมกำเนิดหรือการใช้ห่วงคุมกำเนิดด้วย สอบถามรายละเอียดหรือโทรปรึกษาได้ที่ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร. 1663

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์บัตรทองได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

...........อัพเดทข้อมูลวันที่  18 กรกฎาคม 2566