สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับ ม.ขอนแก่นและเครือข่ายบริการสุขภาพ
สร้างกลไกการรักษา ป้องการกำเริบของโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง
พบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศกว่า 1.5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่า 12 หมื่นล้านต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่มากถึง 5,000 กว่าล้านคน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี สปสช.ดึงผู้เชี่ยวชาญจาก ม.ขอนแก่น พัฒนาคุณภาพการรักษา สร้างกลไกลการเข้าถึง หวังป้องกันการกำเริบของโรค
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประชุมพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยมี รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุดประกายประเด็น “ทำอย่างไรเพื่อให้การรักษาโรคหืด ไปยังเป้าหมายสูงสุด คืออัตราการเข้ารับการรักษาใน รพ.น้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์” โดยมี นพ.สุธนะ เสตวรรณา รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นประธานการเปิดและนำเสนอเป้าหมายของโครงการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในเขตพื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี มี แพทย์ พยาบาล เภสัชของหน่วยบริการในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลางตอนบนเข้าร่วมในครั้งนี้กว่า 300 คน
นพ.สุธนะ เสตวรรณา รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ของปีงบประมาณ 2555 พบว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคที่พบบ่อยซึ่งมีอุบัติการณ์ของโรคถึงร้อยละ 10-20 ในเด็ก และร้อยละ 6.9 ในผู้ใหญ่ สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้จำนวน 1.5 ล้านคน และมีภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาถึง 12,735 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 0.14 ของรายได้ประชาชาติ และเป็นอีกโรคหนึ่งในหลายๆ โรคที่มีภาระทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่มากถึง 5,550 ล้าน ทำให้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็น 1 ใน 10 ของโรคเรื้อรังที่เป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการหอบรุนแรงที่ห้องฉุกเฉิน และรับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดในการสนับสนุนการจัดบริการโรคดังกล่าว เพื่อลดอัตราการเข้ารักษาใน รพ. ให้น้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลที่ห่างไกล และสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน
ที่ผ่านมาจากการดำเนินงาน ซึ่ง สปสช.สนับสนุนการจัดบริการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2550 โดยเริ่มจากการประเมินสถานการณ์การดูแลผู้ป่วย ร่วมกับสมาคมสภาองค์กรโรคหืด สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในการพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติให้เป็นปัจจุบัน และร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น จัดระบบบริการผู้ป่วยนอกโรคหืดแบบง่ายตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยในปี 2551-2554 และในปี 2555 ได้ขยายโครงการให้ครอบคลุมผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากทั้งสองโรคเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการใกล้เคียงกัน ทำให้การวินิจฉัยโรคอาจคลาดเคลื่อนส่งผลต่อการดูแลรักษา ซึ่งแตกต่างกัน ถึงแม้จะใช้ยาในกลุ่มเดียวกันก็ตาม โดย สปสช.สนับสนุนการจัดบริการโรคหืด 2 ส่วน คือ
1.สนับสนุนให้มีการรักษาด้วยยาสูดสเตียรอยด์ ครอบคลุมการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้งในรอบปี การรักษาด้วยยาสูดสเตียรอยด์ หรือยาสูดที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ทุกครั้งที่มารับบริการ การตรวจประเมินสมรรถภาพปอดทุกครั้งที่มารับบริการ และการสอน และประเมินการใช้ยาสูดอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปี ส่วนที่ 2 สนับสนุนให้หน่วยบริการที่สามารถลดอัตราการรับเข้านอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับบริการตามแนวทาง ลงน้อยกว่าร้อยละ 13 จากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันพบว่า ในระดับเขตมีอัตราการรับเข้านอนโรงพยาบาลลดลง อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการสนับสนุนการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่จำเป็น ผู้ป่วยจะได้รับบริการอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปีได้แก การตรวจประเมินสมรรถภาพปอด การประเมินภาวะหายใจลำบาก การประเมินคุณภาพชีวิตในกิจวัตรประจำวัน การประเมินสมรรถภาพร่างกาย การสอนและประเมินการใช้ยาสูด การฉีดวัคซีนไข้หวัด จากผลการดำเนินงานเมื่อปี 2553 พบว่าอัตราการเข้านอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และปี 2554-2555 มีอัตราการเข้านอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยลดลงโดยเฉพาะในพื้นที่ สปสช.เขตสระบุรี พิษณุโลก นครสวรรค์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานีและกรุงเทพฯ
นพ.สุธนะ กล่าวต่อว่า การประชุมพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีเป้าหมายหลักเพื่อลดอัตราการเข้านอนโรงพยาบาลของผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้รับการดูแลรักษาตามแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และหน่วยบริการมีรูปแบบบริการเพื่อสร้างกลไกการเข้าถึงการดูแลรักษาตามแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข ก็เพื่อให้หน่วยบริการสามารถสื่อสารและสร้างเครือข่ายการดูแล ให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ และลดความรุนแรงของโรคในระยะยาว